ความคืบหน้าการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (ฉบับที่ ๘)
จดหมายข่าว
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีสู่มรดกโลก
ฉบับที่ ๘ ประจำวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
ในการเสวนาทางวิชาการเพื่อเรียบเรียงเอกสารฉบับสมบูรณ์ (Nomition Dossier) เสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกคราวหนึ่ง นักวิชาการส่วนกลางหลายท่านได้ให้ความเห็นในเรื่องความโดดเด่นของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และความเป็นเอกลักษณ์ของพระบรมธาตุเจดีย์ มีหน้าที่สนใจเป็นพิเศษก็คือความเห็นของ ดร.ธนธร กิตติกานต์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพซึ่งได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้สามประการคือ
๑. เจดีย์ประจำมุข (“สถูปิกะ”) ที่อยู่สี่มุมเมืองของลานทักษิณ น่าจะได้รับแบบอย่างมาจากสถาปัตยกรรมประเภท “จันทิ” ของชวา ตัวอย่างที่ชัดเจนคือพระบรมธาตุไชยา แต่ต่างตรงที่ยอดสถูปิกะของจันทิในชวาภาคกลาง (รวมถึงพระบรมธาตุไชยา) นั้น ไม่มีบัลลังก์อันเป็นลักษณะเฉพาะของสถูปลังการูปแบบของเจดีย์ประจำมุมยังน่าจะเป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์รายซึ่งภายในระเบียงคด (พระด้าน) ซึ่งสร้างเพิ่มเติมบนพื้นที่ที่เคยเป็นลานประทักษิณมาก่อน
๒. ฐานประทักษิณ มีการประดับด้วยซุ้มพระพุทธรูปแลปูนปั้นรูปช้างครึ่งตัวหรือ “หัตถีปราการ” สันนิษฐานว่าเป็นการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมศรีวิชัยที่นิยมสร้างเสาติดผนังกับหัตถีปราการในสถูปลังกา นอกจากนี้บนผนังดังกล่าวยังปรากฏปูนปั้นปากท่อระบายน้ำรูปหัวสัตว์ คล้ายกับที่พบในสถูปปวะฏะทาเคบนลานพระเขี้ยวแก้วของเมืองโปโลนาวะ ดังนั้นผู้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ จึงน่าจะสร้างโดยช่างที่มีความชำนาญในรูปแบบของสถูปลังกา หรืออาจะเป็นช่างชาวลังกาก็เป็นได้
๓. ยอดพระบรมธาตุทรงกรวยสูง มีความต่างจาก “โกตกะรัลละ” ของสถูปลังกาที่ป้อมเตี้ยสันนิษฐานว่าปลียอดและปล้องไฉนนั้นเป็นงานบูรณะเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่ายอดที่เรียวแหลมนั้นไม่ได้ปรากฏเฉพาะที่พระบรมเจดีย์ แต่พบในสถูปทุกองค์ภายในวัดรวมถึงเจดีย์ประจำมุมที่คล้ายกับสถูปปิกะของพระบรมธาตุไชยา ดังนั้นยอดเรียวแหลมของพระบรมธาตุเจดีย์นั้นอาจเป็นลักษณะท้องถิ่นที่ปรากฏตั้งแต่สมัยแรกสร้างก็เป็นได้ อนึ่ง พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชได้กลายเป็นต้นแบบสำคัญให้แก่สถูปเจดีย์ในภาคใต้ ที่ส่วนใหญ่มักเป็นเจดีย์ที่องค์ระฆังป้อมเตี้ย และมียอดเป้นทรงกรวยแหลมสูงในลักษณะเดียวกัน
ดร.ธนธร กิตติกานต์ กล่าวย้ำอีกว่า การรับเอารูปทรงทางสถาปัตยกรรมมาจากเมืองโปโลนนารุวะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสถูปกิริเวเหระและสถูปอุทุมพรคีรี แสดงให้เห็นว่าพระบรมธาตุเจดีย์นครฯสร้างขึ้นร่วมสมัยกับพระเจ้าปรากรมที่พาหุที่ ๑ (พ.ศ.๐๖๙๖-๑๒๗๙) ผู้สร้างสถาปนาความสำคัญของสถูปทั้งสองแห่งให้เป็นสถูปประจำสำนักสงฆ์สองแห่ง ดึงดูดให้พระสงฆ์จากดินแดนเดินทางไปจาริกแสวงบุญ และนำเอาพระพุทธศาสนามาประดิษฐานให้ตั้งมั่นในดินแดนของตน ด้วยการสร้างพระธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวยังสอดคล้องกับปีสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช นั่นคือ พ.ศ.๑๗๑๙อีกด้วย
ผ.ศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์
ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ