ความคืบหน้าการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (ฉบับที่ ๔)

จดหมายข่าว
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีสู่มรดกโลก
ฉบับที่ ๔ ประจำวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙

การจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความคืบหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการฝ่ายวิชาการได้นำเสนอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ กรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนงานภาครัฐและภาคเอกชน ในคราวประชุมประจำเดือนของจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานการประชุม

ที่ประชุมได้พิจารณาถึง “แผนการจัดการอนุรักษ์และคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร”โดยมี ผ.ศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ และ ร.ศ.โรจน์ คุณเอเนก แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอรายละเอียดของแผนจัดการดังกล่าว ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบโดยให้เพิ่มเติมสนับสนุนแผนจัดการนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการตามแผน

แผนจัดการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกวัฒนธรรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารที่นำเสนอสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบครั้งนี้ ประกอบด้วยแผนงานด้านต่าง ๆ ๖ ด้าน ประกอบด้วยแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม แผนงานด้านสังคม แผนงานด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว แผนงานด้านการปกครอง แผนงานด้านสืบสานประเพณี และแผนงานด้านการศึกษาและถ่ายทอดคุณค่ามรดกโลก แผนงานเหล่านี้มีโครงการที่จะใช้ในการขับเคลื่อนและอนุรักษ์รวม ๕๘ โครงการ แต่ละโครงการจะเน้นการอนุรักษ์และดำรงความโดดเด่นของวัดทั้งสิ้น

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัตถุซึ่งประดิษฐานสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ เรียกว่า “พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช” มีอายุมาไม่น้อยกว่า ๑๐๐๐ ปี ปัจจุบันยังดำรงสถานะเป็นสถูปเจดีย์ที่ยังมีชีวิตชีวา อาจกล่าวได้ว่าพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีคุณลักษณะโดดเด่นสามประการ ประการแรก เป็นสถูปใหญ่ในคาบสมุทรภาคใต้และคาบสมุทรมาลายูที่รักษาความแท้และความสมบูรณ์ ไว้ได้ดีที่สุด ประการที่ ๒ เป็นสถูปเจดีย์ใหญ่ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันทางทางคุณค่าจากหลายภูมิภาคของเอเชีย จนทำให้สถูปเจดีย์องค์นี้กลายเป็นต้นแบบเจดีย์ในภาคใต้-สุโขทัย ประการที่ ๓ เป็นสถูปที่ดำรงความเชื่อและศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่องนับร้อยปีโดยประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ และประเพณีสารทเดือนสิบ

ผ.ศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์
ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ
รายงาน