จดหมายข่าว วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีสู่มรดกโลก (ฉบับที่ ๓)
จดหมายข่าว
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นบัญชีสู่มรดกโลก
ฉบับที่ ๓ ประจำวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
นักวิชาการระดับนานาชาติแนะว่า การทำเอกสารฉบับสมบูรณ์เพื่อนำเสนอคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ควรเน้นเรื่องความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างองค์พระบรมธาตุเจดีย์กับวิถีชีวิตของชาวพุทธในประเทศไทยและในคาบสมุทรมาลายู ในเรื่องพุทธศรัทธา พุทธบูชา พุทธศิลป์ และพุทธวัฒนธรรมซึ่งจะช่วยให้เพิ่มน้ำหนักความโดดเด่นขึ้นไปอีก นอกเหนือความโดดเด่นด้านการแลกเปลี่ยนซึ่งวัฒนธรรมกับประเทศศรีลังกา และประเทศพม่าตั้งแต่โบราณ อันเป็นแบบความคิดในการสร้างสถูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำที่นครศรีธรรมราช
เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ดร.นันทนา ชุติวงศ์ นักวิชาการอาวุโสด้านโบราณคดี แห่งมหาวิทยาลัยไลเด้นส์แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เดินทางมายังประเทศไทย และในโอกาสดังกล่าวได้มาให้ข้อเสนอแนะแก่คณะทำงานด้านวิชาการ ในคณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกประเด็นสำคัญที่ ดร.นันทนา ชุติวงศ์เสนอไว้ก็คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารมีความสัมพันธ์โดยตรงหรือสัมพันธ์เชิงรูปธรรมกับประเพณีเก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ยังดำรงอยู่มานาน ๘๐๐ ปี เช่นประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุนอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ในแง่อื่นที่น่าสนใจอีก ๔ ประการเป็นอย่างน้อย คือเรื่องพุทธศรัทธา พุทธบูชา เรื่องพุทธศิลป์ และพุทธวัฒนธรรม ความสัมพันธ์เหล่านี้ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในวัดนี้ และยังต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ในประเด็นเรื่อง ”พุทธศรัทธา” เห็นได้จากการที่พุทธศาสนิกชนทั้งราชอาณาจักรได้นำทองคำแท้มาหุ้มบนยอดพระบรมธาตุเจดีย์ เรียกกันว่า “ปลียอดทองคำ” ทองคำรุ่นแรกได้นำมาหุ้มปลียอดได้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๕๕ คือในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง) ต่อมาได้รับพระราชทานเพิ่มจากพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าบรมโกศ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัย เป็นต้น รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมถวายเป็นพุทธบูชา เป็นผลให้ปัจจุบันทองคำบนปลียอดมีน้ำหนักถึง ๑๔๑.๙๘๗ กิโลกรัม (๑๑๖.๔ ชั่ง)
เฉพาะในประเด็นเรื่องพระพุทธ “พุทธบูชา” จัดได้ว่าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารมีเครื่องพุทธบูชามากที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยดอกไม้เงิน-ทอง ดอกบัวเงิน-ทอง และถนิมพิมพาภรณ์ จำนวนฉบับหมื่นชิ้น เครื่องพุทธบูชาเหล่านี้มีมานานนับร้อยปี ปัจจุบันยังเก็บรักษาและยังแสดงอยู่พิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุ ที่เรียกว่า “ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑ์”ซึ่งตั้งอยู่ในวิหารเขียนและวิหารโพธิ์ลังกา
จากประเด็นข้างต้นนี้ คณะกรรมการฝ่ายวิชาการจะได้นำไปแก้ไจเพิ่มเติมในเอกสารฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมแนบบัญชีเครื่องพุทธบูชาที่สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราชรวบรวมไว้ เพื่อบรรจุในภาคผนวกด้วย
ผ.ศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์
ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ
รายงาน